รีวิว Crash Course in Romance โรแมนซ์ฉบับเร่งรัด

You are currently viewing รีวิว Crash Course in Romance โรแมนซ์ฉบับเร่งรัด

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน hide

Crash Course in Romance EP.5

crash course in romance Review , รีวิว crash course in romance , รีวิวโรแมนซ์ฉบับเร่งรัด , สปอยล์ crash course in romance  , crash course in romance Spoiler


(มีสปอยล์)

ซีนนี้ Crash Course in Romance ความดีเทลของ ผกก.ยูแจวอน จาก Hometown cha cha cha ยังคงจี๊ดในคนดูเสมอ เขาชอบใส่ดีเทลแบบที่ไม่ต้องเล่นใหญ่อะไรมากมาย แต่อธิบายความรู้สึกของตัวละครได้อย่างแจ่มแจ้ง อย่างซีนนี้ ไม่บอกก็รู้ว่ารีบมาขนาดไหน และต้องห่วงใย ร้อนใจแค่ไหนถึงได้ใส่รองเท้าสลับข้างมาแบบนี้

จะว่าเป็นซีรีส์ขายขำตลอดก็คงไม่ใช่ เพราะซีนอารมณ์ทีไร เหมือนปล่อยหมัดใส่คนดูทุกที แต่เชื่อว่านี่จะเป็นแค่การแย้บ หมัดฮุกของจริงจาก ผกก. ที่เตรียมไว้ยังคงรออยู่แน่นอน นี่อาจจะแค่การวอร์มเบาๆ

จนถึงอีพีที่ 5 นี้ เราต้องยอมรับว่า เถ้าแก่เนี้ยช่างเป็นคนที่ใส่ใจคนอื่นก่อนเสมอ คงเพราะชีวิตตั้งแต่เด็กที่ต้องมารับบทเสาหลักแบบไม่ตั้งตัว ใส่ใจแม้กระทั่งอาหารที่เธอทำ เป็นรสชาติพิเศษที่บอกไม่ถูก และมันก็คงทำให้ชียอลสามารถทานข้าวได้แค่ร้านของเธอ

แต่เธอก็ทำมันได้ดีมากจริงๆ นะในการใส่ใจคนอื่น ทำดีเสียจนลืมไปว่าตัวเองก็มีชีวิตจิตใจอยู่นะเถ้าแก่เนี้ย

รอชมต่อคืนนี้ ว่ารสชาติของความใส่ใจ คือรสชาติพิเศษที่ชียอลรับรสมันได้เลยทำให้เขาทานได้แค่ร้านเครื่องเคียงนี้หรือเปล่า (รสเดียวกับตอนที่แม่แฮงซอนเรียกมาทานด้วยความห่วงใยในสมัยเด็กนั่นละมั้ง)

เพราะชีวิตเลือกได้เหมือนเครื่องเคียงความหมายสุดเรียบง่ายผ่านรายละเอียดองค์ประกอบจาก Crash Course in Romance

crash course in romance Review , รีวิว crash course in romance , รีวิวโรแมนซ์ฉบับเร่งรัด , สปอยล์ crash course in romance  , crash course in romance Spoiler


ผ่านมา 6 ตอนแล้วสำหรับซีรีส์รอมคอมเรื่องนี้ที่ผู้กำกับ “ยูแจวอน” ยังคงฝากฝีไม้ลายมือความสนุก อบอุ่นปนหัวเราะ แทรกช็อตซึ้งๆมาพร้อมความหมายของชีวิตได้อย่างกลมกล่อม

ดูเหมือน ผกก. จะชอบบทที่แฝงความหมายบางอย่างที่ถ่ายทอดผ่านคาแรคเตอร์ตัวละครอยู่เสมอ อย่าง Hometown cha cha cha การสร้างให้ฮเยจินเป็น”หมอฟัน” ก็เพื่อจะรักษาความเจ็บปวดอันแสนทรมานที่หลบซ่อนอยู่ภายในใจและอดีตที่”ผุพัง” ของผู้คนในกงจิน

[เช่นเดียวกับเรื่องนี้ที่สร้าง “ร้านเครื่องเคียง” ขึ้นมา]

เครื่องเคียงเป็นของที่ต้องมีติดโต๊ะอาหารของชาวเกาหลี
เดิมทีแต่ละบ้านจะมีเครื่องเคียงที่แม่ทำไว้ให้เสมอ เรียกว่าจะมีรสมือจากแม่ที่แตกต่างกัน รสชาติความใส่ใจของแต่ละบ้านคงมีรสชาติเฉพาะตัวเช่นกัน

เราเลยจะเห็นซีรีส์หลายๆเรื่องที่แม่ชอบฝากเครื่องเคียงไปให้ลูกๆอยู่เสมอ

ร้านเครื่องเคียงในเรื่องแม้จะเป็นร้านหน้าตาธรรมดา แต่มีความพิเศษตรงที่สามารถ “เลือกได้เองตามใจ” สวนทางกับเรื่องราวที่ดำเนินไปของแม่ๆ ในช่วงเตรียมสอบของลูกที่ต่างก็พากันเลือกสรรสิ่งที่คิดว่า “ดีที่สุด” ให้แก่ลูกทุกคน ผ่านเหตุการณ์จริงที่เราก็รู้ว่า เกาหลีกับการสอบเข้ามหาลัย(ซูนึง) เป็นสิ่งที่ตัดสินชะตาชีวิตเด็กคนนึงได้เลย

เหล่าพ่อแม่จึงต้องฟาดฟัน แย่งชิงกันเพื่อหวังว่าลูกจะได้มีอนาคตอันสวยงาม แต่นั่นกลับเป็นการสร้างแรงกดดันมหาศาลให้แก่เด็กโดยไม่รู้ตัว

จะว่าไป…
ความหวัง ความฝันอันงดงามนั่นมันก็ความหวังของพ่อแม่เองกันหรือเปล่า? มันใช่ความต้องการของเด็กจริงๆหรอ?

เรื่องนี้อาจจะหยอดคำถามเบาๆให้คนดูได้คิดตามแบบนี้ก็ได้

และซีรีส์ยังฉายภาพร้านเครื่องเคียงเจ้าดัง ที่มีเถ้าแก่เนี้ย
“นัมแฮงซอน” คอยลงมือทำอย่างตั้งใจทุกเมนู

[ไม่มีเมนูไหนที่เธอบอกว่าอร่อยที่สุด]
เพราะท้ายสุดแล้ว คนที่จะบอกว่าเมนูไหนอร่อยสุดได้ก็คือลูกค้า

ลูกค้าจะเลือกเมนูที่ถูกปากมากที่สุด อร่อยที่สุดให้ตัวเอง
และหากเครื่องเคียงอร่อยถูกปาก ก็คงทำให้อาหารมื้อนั้นอร่อยได้เพิ่มขึ้นละมั้ง

[การเลือกเครื่องเคียงก็คงไม่ต่างจากการได้เลือกบางอย่างในชีวิต]

หากการเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตเป็นเหมือนอาหาร หนึ่งในปัจจัยสี่ของคนเรา จะไม่ทานก็อาจหมดลมได้ แต่มันคงมีรสชาติขึ้นมาหน่อย ถ้าเราได้เลือกเครื่องเคียงที่เราชอบด้วยตัวเอง เราคงจะมีความสุขกับการกินอาหารในทุกๆวันน่าดู

ชีวิตก็คงเป็นอย่างนั้น..

บางทีเครื่องเคียงที่เราคิดว่าอร่อยเพราะทำจากวัตถุดิบชั้นดี
เราจึงเลือกไปให้คนที่เรารักนั้น.. มันอาจจะไม่ถูกปากเขาก็ได้นะ

มันน่าจะดีกว่าหรือเปล่า? หากเราได้ถามกันก่อนว่าเขาชอบอะไร แต่มันคง “ดีที่สุด” ถ้าเขาจะได้มา “เลือกสิ่งที่ชอบด้วยตัวเอง”

อะไรจะมีความสุขเท่าการได้เลือกทานของอร่อยถูกปากอยู่ทุกๆวันล่ะ…จริงมั้ย😊

เผื่อใครไม่สังเกตความเนียนของผู้กำกับใน Crash course in Romance

crash course in romance Review , รีวิว crash course in romance , รีวิวโรแมนซ์ฉบับเร่งรัด , สปอยล์ crash course in romance  , crash course in romance Spoiler

แฮงซอนดูไต่ระดับความน่ารักขึ้นทุกๆอีพี ไม่ใช่เพราะบังเอิญ
แต่มันคือความ “ตั้งใจ” ที่ให้แฮงซอนดูซอมซ่อในอีพี 1

พอมาถึงอีพี 7 ถ้าสังเกตก็จะรู้ว่ามันเป็นเทคนิคที่ ผกก. ยูแจวอนเล่นกับคนดู เขาพยายามส่งความรู้สึกมาให้คนดูอยู่ตลอดเวลา

และใน HomeCha ก็ใช้เทคนิคการถ่ายทอดแบบนี้เลย

ขอนิยามว่า…เป็นการถ่ายทอดแบบ
“คนดูรู้..แต่ตัวละครไม่รู้5555”

ยกตัวอย่างเช่น..

ความที่แฮงซอนดูเด็กขึ้นเรื่อยๆ จากอีพี 1 มีเสน่ห์มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ชียอลบอกว่า “รู้สึกแปลกๆ” ใจเต้นแรงแต่หาสาเหตุไม่ได้ แถมยังทะเลาะกับตัวเองไปอีก

ผกก.ให้คนดูได้เห็นแบบเดียวกับที่ชียอลรู้สึก ว่า เถ้าแก่เนี้ยน่ารักขึ้นจริงๆนะ ไม่แปลกที่ชียอลจะเกิดความรู้สึกพิเศษบางอย่างเข้าซะแล้ว

ในซีรีส์ยังใส่ไว้อีกหลายดีเทล ที่ใส่มาให้คนดูรู้ แต่ตัวละคร(ยัง)ไม่รู้

ไม่ว่าจะ..
– การนอนหลับบนที่นอนนิ่มๆได้อย่างเต็มตื่นของชียอล
– การจำชื่อแฮงซอนได้ทั้งที่ไม่เคยจำชื่อใคร
– การทานอาหารจากร้านทั่วไปได้(ขาหมู)
– การที่เสื้อผ้าสีสันของเขาไม่ดำ/ขาวอีกต่อไป
– การที่มองไปแฮงซอลกี่ทีก็มีแต่สีชมพู
– อาการเงอะงะของเขาขณะที่พบจิตแพทย์

ด้วยเทคนิคของ ผกก. เลยทำให้เราได้อมยิ้มไปกับการมองคนที่ยังไม่รู้ใจตัวเอง แล้วก็ได้ขำไปกับความพยายามปฏิเสธความรู้สึกเหล่านั้น

ก็ถือว่าเป็นสไตล์การกำกับของยูแจวอน ที่ถนัดถ่ายทอดรอมคอมด้วยจังหวะแบบนี้

ผกก.จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ซีรีส์สนุกมากขึ้นไม่แพ้นักแสดงเลยล่ะ

“ดีต่อกันเข้าไว้” คงเป็นอีกความหมายที่ซีรีส์อยากจะบอกเรา

อย่างที่เขาว่า..ซีรีส์ดีๆ มักจะมอบแง่คิดดีๆให้เราอยู่เสมอ

ไม่มีใครรู้หรอกเนอะ ว่าน้ำหนึ่งแก้ว ข้าวหนึ่งถ้วย หรือแม้แต่ซุปหนึ่งชามของคุณแม่ในวันนั้น จะหล่อเลี้ยงจิตใจชียอนมาจนทุกวันนี้

น้ำใจเล็กน้อยในวันที่ใครสักคนกำลังลำบากมันทำให้มีแรงใช้ชีวิตต่อได้เลยล่ะ

คงเพราะเราไม่รู้หรอกว่าคน ใครคนนั้นเข้าใช้ชีวิตยังไง ตรากตรำและอดทนกับชีวิตมามากเท่าไร ชีวิตสู้กลับแค่ไหน จนถึงในวันที่เขาเดินมาหาเรา มันอาจจะเป็นแรงเฮือกสุดท้ายก็ได้

การหยิบยื่นน้ำใจเพียงเล็กน้อย ให้ได้รดพรมลงไปในชีวิตสักนิดสักหน่อย พอให้จิตใจที่เหี่ยวเฉาได้ฟื้นขึ้นมามีโอกาสที่จะเบ่งบานในวันต่อๆไปบ้าง ไม่งั้นมันคงร่วงโรยและจากไปแน่นอน

คนบางคน เขาก็พูดเรื่องบางเรื่องได้ยากเหมือนกันนะ

มีคำนึงผุดมาในหัวทันทีหลังจากดูจบ
“คนบางคน เขาก็พูดเรื่องบางเรื่องได้ยากเหมือนกันนะ” เพราะเราไม่เป็นเขา เราไม่มีวันเข้าใจหรอก

ยิ่งคนที่ชีวิตไม่ได้มีเวลาให้ได้อ่อนแออย่างแฮงซอน ที่ต้องอดทนอดกลั้นเอาไว้เพื่อน้องและหลานมาตั้งแต่เด็กๆ ยอมเสียสละและไม่ได้รู้จักความสุขของตัวเองมานานเท่าไรก็ไม่รู้

คงไม่รู้วิธีจะเล่าสิ่งเหล่านั้นออกมายังไงเหมือนกัน และคงไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเองเหมาะที่จะได้รับความสุขนั้นจริงๆไหม

ตัวละคร แฮงซอน เป็นฮงบันจังในเวอร์ชั่นผู้หญิงเลยก็ว่าได้ มีความคล้ายกันถึง80% เลยล่ะ

คนที่ดูเข้าใจอะไรได้ง่ายๆ เข้าใจไปซะทุกเรื่องเนี่ย แต่เรื่องที่อยู่ในใจตัวเองกลับซับซ้อนยิ่งกว่าเขาวงกต ให้เรียบเรียงออกมาเป็นประโยคช่างยากเย็นแสนเข็ญ

คงจะทำอะไรไม่ได้นอกจากรอคอยวันที่เขาจะกล้าพูดออกมากันละเนอะ

หวังว่าคืนนี้คงจะได้เห็นการเปิดใจของสาวๆบ้านนัมกันนะ

เมื่อมองข้ามความบกพร่องที่มี เราจะค้นพบความงดงามที่มีอยู่สาระดีๆที่แทรกผ่านแคสติ้งของ Crash Course in Romance

เดินทางเข้าสู่ช่วงท้ายของซีรีส์ฟีลกู้ดเรื่องนี้กันแล้ว เรื่องราวได้คลี่คลายปมหัวใจของเถ้าแก่เนี้ยร้านเครื่องเคียงและครูชเว ติวเตอร์เบอร์ 1 ของวงการ แต่ดูเหมือนว่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับการแคสติ้งพระนางในซีรีส์นี้ที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางจะยังดูไม่คลี่คลายซักเท่าไหร่เลย

หากเราเชื่อว่าซีรีส์เกาหลีมีความก้าวหน้าและใส่ใจในทุกรายละเอียด จนสามารถตกหัวใจผู้ชมทั้งโลก(รวมถึงไทย)ได้แล้วละก็… การที่เรื่องนี้วางตัวละคร แคสติ้ง รวมไปถึงองค์ประกอบต่างๆ แม้แต่คอสตูมนักแสดง นั่นอาจจะเป็นความตั้งใจเพื่อจะสื่อสาร “สาระสำคัญ” บางอย่างให้แทรกซึมผ่านความสนุกและเสียงหัวเราะจากการเดินเรื่องราวโรแมนซ์นี้ก็ได้

ในอีพีแรกๆของเรื่องเราจะเห็นว่าแฮงซอนไม่ใช่คนสวยอะไร แถมยังกระเซอะกระเซิง ทั้งผมเอย ชุดเอย การดีไซน์คาแรคเตอร์ทั้งหมดให้เป็นแบบนั้นเพื่อสะท้อนชีวิตของแฮงซอนที่เธอได้เป็นมา

หนำซ้ำการพบกันระหว่างเธอและครูชเวในครั้งแรกก็ไม่ได้น่าประทับใจอะไร และแน่นอนว่าเธอไม่ได้เป็นคนสวยสะดุดตาแบบที่ทำให้พระเอกต้องตกหลุมรักในแรกพบ..รูปลักษณ์ภายนอกจึงอาจจะเป็น “ข้อบกพร่อง” สำหรับแฮงซอนก็ได้ เพราะบรรดาแม่ๆ ในเรื่อง ต่างก็บอกว่า “อย่างแฮงซอนเนี่ยหรอจะมาเป็นสเปคของครูชเว”

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ซีรีส์ได้ค่อยๆฉายภาพให้เราเห็นสิ่งที่เธอเป็น
ไม่ว่าจะการมีจิตใจที่ดี ความเป็นห่วงเป็นใย ความใส่ใจที่เธอมีต่อคนรอบข้าง เราได้รู้จักตัวตนของแฮงซอนไปทีละน้อยพร้อมกันกับชียอล มารู้ตัวอีกทีเราต่างก็ตกหลุกรักเธอไม่ต่างกับชียอล

เรามองเห็นความน่ารักของเธอมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกอีพี คงเป็นเพราะเราได้มองข้ามข้อบกพร่องของเธอ และได้เจอคุณค่าข้างในตัวละครนี้จริงๆ ไม่ว่าจะเธอจะแบกภาระอะไร อายุเท่าไหร่หรือรูปลักษณ์แบบไหนก็ตาม

ซีรีส์ยังได้ย้ำชัดถึงคาแรคเตอร์แฮงซอนด้วยไดอาล็อกจากครูชเวถึงเหตุผลที่เขาชอบเจ้าของร้านเครื่องเคียงสุดเฉิ่มคนนี้ก็เพราะเธอเป็นคนอบอุ่น(และนั่นทำให้เขามองเธอสวยขึ้น)

และไม่ได้มีเพียงแค่ตัวละครนี้ที่มีข้อบกพร่อง ซีรีส์ยังใส่ความบกพร่องให้แก่ตัวละครแทบทุกตัว อย่างน้องชายของแฮงซอนที่ถูกตัดสินจากพนักงานร้านวาฟเฟิลเพียงเพราะความ “บกพร่อง” ไม่ปกติของเขา เลยถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกโรคจิต stalker ทำให้แจอูไม่สามารถมีความสุขได้อีก กับการทานวาฟเฟิลของอร่อยในทุกๆเช้า

ครูชเวชียอลก็เช่นกัน ติวเตอร์ผู้ขาดสารอาหารที่มักแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าทุกวินาทีของเขาเป็นเงินเป็นทอง และจะไม่ยอมเสียเวลาไปกับอะไรที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยเฉพาะมนุษย์สัมพันธ์ นี่อาจจะเป็นความบกพร่องเล็กๆในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ผู้เป็นสัตว์สังคมก็ได้
และยังมีตัวละครมากมายที่ต่างก็มีข้อบกพร่องไม่ต่างจากเรา รวมถึงบรรดาแม่ๆ และเด็กๆในเรื่องด้วย

อย่างที่เคยโพสต์ไว้ว่า ซีรีส์ดีๆ มักมอบสิ่งดีๆ ให้เราเสมอ
มันน่าจะดีนะ หากสังคมไม่ได้ตัดสินกันเพียงเพราะสิ่งที่ตาเห็น เราไม่ได้วัดค่าใครด้วยรูปลักษณ์หรือความบกพร่องบางอย่าง

หากมัวแต่มองจุดดำเล็กๆ บนพื้นขาว เราจะไม่มีวันรู้เลยว่าพื้นที่สีขาวนี้มันกว้างใหญ่แค่ไหน
หากมัวแต่มองจุดบกพร่องของเขา แล้วเราจะพบความงดงามของคนๆนั้นได้ยังไงกันล่ะ

ผู้เล่นซัพพอร์ตที่ดีที่สุดคือแม่

อีกอย่างหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยใน Crash course in Romance ในประเด็นของหน้าที่และความเป็นแม่
.

ซีรีส์เปรียบเทียบระหว่างแฮงซอนกับบรรดากลุ่มแม่ๆให้เรารู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า แม่ตัวปลอมอย่างแฮงซอนอาจจะทำหน้าที่แม่ได้ดีกว่ากลุ่มแม่เหล่านั้นที่เป็นแม่แบบ biological ด้วย แม่ที่ให้กำเนิดลูกจริงๆ ด้วยซ้ำ
.

ความเป็นแม่หรือหน้าที่แม่ที่ดีคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นแม่จริงๆหรือเปล่า
แต่มันคือความใส่ใจ ห่วงใย ความปรารถนาดีและที่สำคัญคือการอยากเห็นลูกมีความสุขในแบบที่อยากจะเป็น
.

ส่วนตัวรู้สึกว่าซีรีส์พยายามบอกถึงหน้าที่แม่จริงๆ อาจจะไม่ใช่การปูทางที่ราบเรียบไว้ให้ลูกเดินตามเส้นที่เราขีด แต่มันคือการเดินไปด้วยกันบนทางที่ขรุขระ คอยประคับประคองกัน คอยพยุงกันจนถึงวันที่เขาแข็งแรงพอจะเดินบนเส้นทางที่ยากลำบากของโลกแห่งความจริงนี้ได้ อาจจะมีบ้างครั้งที่ลูกแวะชมต้นไม้ดอกไม้ หรือสะดุดล้มไปบ้าง แต่ก็จะมีแม่นี่แหละค่ะ ที่จะคอยยืนมองและรอเดินไปด้วยกันอีกครั้ง
.

แม่เลยอาจไม่ใช่ตำแหน่งศูนย์หน้าคอยบุกฝ่าทุกอุปสรรคให้กับลูก แต่คือตำแหน่งที่คอยซัพพอร์ทตัวเล่นหลักต่างหากอย่างที่แฮงซอนทำ (รวมถึงการเขียนให้เป็นกีฬาแฮนด์บอลที่มีกติกาห้ามถือลูกบอลนานเกิน 3วิ จึงต้อง “ส่งต่อ” ลูกไปเรื่อยๆจนถึงเส้นชัย ไม่ใช่เลี้ยงลูกไปเรื่อยๆอยู่กับตัวตลอดอย่างฟุตบอล)
.

ทั้งซัพพอร์ตทางร่างกาย คอยทำอาหารอย่างอิ่มอุ่นทุกวัน (ขณะที่บ้านอื่นให้กินแซนวิช+เครื่องดื่มชูกำลัง)
.

และคอยซับพอร์ตทางใจอย่างการคอยรับฟัง หากิจกรรมทำร่วมกันเพื่อให้บ้านเป็นบ้าน คือที่ใจจะอบอุ่น คือที่ชาร์จพลังให้เราในวันที่เราแพ้ให้กับคนทั้งโลก คือที่ๆจะยอมรับเราเสมอไม่ว่าเราจะบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ซักแค่ไหนก็ตาม
.

ถึงแม้แม่จะเป็นฝ่ายซัพพอร์ตก็จริง แต่กลับเป็นเสาหลักของบ้าน เพราะแม่คือคนที่คอยค้ำจุนครอบครัวไว้เสมอ
แม่คือคนที่จะทำให้ครอบครัวเป็นครอบครัว
และบ้านได้เป็นบ้าน

เข้าใจว่าที่แม่ทำก็เพราะรัก แต่การมองอนาคตไกลๆ จนละเลยสิ่งเล็กๆน้อยๆใกล้ตัวอย่างความรู้สึกลูกความใกล้ชิดที่ค่อยๆห่างเหินไปเรื่อยๆ มันอาจทำให้ความสัมพันธ์สะดุดจนบานปลายใหญ่โตได้ และคนที่ได้รับผลที่สุดก็คือลูกอีกนั่นแหละ แอดว่าแอบเตือนสติได้ดีเลยล่ะว่าปัญหาทุกอย่างมันเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามองข้ามมันไปเสมอ ลูกอาจไม่ได้ต้องการแม่ที่ยิ่งใหญ่ แค่เป็นแม่ที่กอดแล้ว”อุ่น”ก็น่าจะพอรึเปล่านะ

รักที่ดี ที่พอดี

กำลังขมวดเข้าประเด็นแสนธรรมดาแต่ซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายอย่าง ความรัก (แน่นอน..นี่ซีรีส์โรแมนติกนะ) ไม่มีใครสามารถอธิบายได้อย่างเป็นรูปธรรมเสียที ว่าต้องทำอย่างไร ปริมาณเท่าไหร่ ความถี่แบบไหน ถึงจะผลิดอกออกผลเป็นความรักได้ มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่จะคำนวนได้อย่างเป๊ะๆเลยน่ะสิ รักจึงเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและแต่ละคนก็นิยามมันต่างกัน มีวิธีปฏิบัติกับมัน และแสดงออกมาไม่เหมือนกัน

ในอีพีนี้ ซีรีส์ได้สะท้อนภาพความรักในนิยามของแต่ละตัวละครให้เราได้ชมกัน โดยยังไม่เฉลยโมเม้นท์ “ความรักที่พอดี” ให้เราได้รับรู้ (หรืออันที่จริงได้หย่อนไว้ทีละนิดละหน่อยให้คนดูได้ตกผลึกเองแล้วก็ได้)

ว่ากันว่า ความรัก(ที่ดี) มักทำให้เราอยากเป็นคนที่ดีขึ้น
รักถึงได้สวยงามและเป็นความรู้สึกพิเศษที่สามารถหล่อเลี้ยงจิตใจคนเราได้
อย่างคู่แฮอีกับกอนอูที่เจ้ามวลความรู้สึกบางอย่างกำลังก่อตัวด้วยด้วยปฏิกิริยาที่แสนบริสุทธิ์
ถึงเราจะรู้ดีว่าแฮอีคิดกับกอนอูเพียงแค่เพื่อน แต่ความรู้สึกพิเศษที่กำลังเกิดขึ้นอยู่อาจจะแทนความหมาย “เพื่อนรัก” อยู่ก็ได้

แล้วซีรีส์ก็ตัดภาพให้เห็นอีกฝั่งของการให้ความหมายของคำว่า “รัก” จนเกินเลยลิมิต
เหมือนเทียบให้เราได้ชมผลพวงจากความรักที่มีให้อย่างเกินพอดี ตัวละครได้ถ่ายทอดนิยามรักในฉบับของตัวเองซะอย่างเห็นภาพ

ความรักที่ควรจะชุ่มชื่นหัวใจ กลายเป็นความหมกมุ่น การครอบงำ การบังคับเข็ญใจที่น่าอึดอัด แทนที่ความรักจะเป็นขนมหวานที่ส่งมอบให้แก่กัน กลับกลายเป็นยาพิษไปทำร้ายอีกฝั่ง ทำร้ายกันและกันโดยไม่รู้ตัว

ทั้งหมดซีรีส์ได้เล่าผ่านการกระทำของหัวหน้าจีและคุณแม่ทนายจอมเฮี้ยบแบบเน้นๆ

และที่ว่ารักทำให้ตาบอด ในอีกแง่มุมนึงคงเป็นแบบนี้
พวกเขาคงไม่เห็นอะไรอื่นอีก นอกจากสิ่งที่ตัวเองเข้าใจว่านี่ล่ะคือความรัก ความปรารถนาดี (ที่ไม่เคยถามว่าผู้รับต้องการเช่นนี้ไหม)

ซีรีส์ไม่ได้บอกว่าใครผิดหรือใครถูก เพราะหากเราย้อนไปถึงต้นตอสาเหตุของความรักที่เกินพอดีของพวกเขา เราจะพบว่ามีรอยแหว่งโหว่ในชีวิตของพวกเขาอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ซีรีส์คงอยากให้คนดูได้เป็นคนตัดสินเอาเองจากสิ่งที่สะท้อนให้เราได้ชม เพื่อได้ลองทบทวนว่า ตอนนี้เรา”พอดี”อยู่หรือเปล่า

“ความรักและหวังดีไม่เคยทำร้ายใคร” ดูเหมือนจะเป็นคำหลอกเราเสียมากกว่า


ใน Crash course in Romance กระเทาะภาพจริงของวลีนี้ออกมาให้เราได้รู้ซึ้งกันว่าที่จริง “รักและหวังดี” ทำเอาถึงตายได้ ด้วยการใช้เรื่องราวการฆ่าตัวตายของนักเรียนฉายเป็นภาพให้เรารู้สึกได้ชัดเจนถึงความรุนแรงของมัน

แม้ในความเป็นจริง อาจจะมีผู้ชมบางบ้านรู้สึกว่า
“แค่ถูกพ่อแม่เข้มงวดและขีดชีวิต เลือกเส้นทางที่ดีไว้ให้ มันไม่ทำให้ถึงตายซักหน่อย”

อันที่จริง สิ่งที่เรื่องอยากจะสื่อผ่านการเล่าภาพความรุนแรงนั้น เพื่อจะบอกเราๆ ว่า เด็กกำลังจะตายจริงๆอยู่นะ ถึงจะไม่ได้ตายแบบในเรื่อง แต่ตัวตน จิตวิญญาณของเด็กต่างหากที่กำลังตายอย่างช้าๆ ด้วยคำว่า “รักและหวังดี” ที่พ่อแม่มอบให้โดยที่เจ้าตัวเขาอาจไม่ได้ต้องการ

ด้วย “รักและหวังดี” มากนี่แหละค่ะ
เด็กจึงกลายสภาพเป็นกระป๋องว่างเปล่าที่แม่จะได้ยัดใส่สิ่งที่ตัวเองต้องการและพอใจ

ซีรีส์ได้ถามดังๆ แก่พวกเราที่อาจเหมือนใครสักคนในเรื่องนี้ว่า “นี่คือรักจริงๆ ใช่ไหม? รักที่มาจากคนที่ไม่มีวันทำร้ายเรา?” ผ่านเสียงร้องไห้และหยดน้ำตาของลูกทุกคนในซีรีส์นี้


จากจุดเริ่มต้นถึงฉากปิดท้าย

จุดเริ่มต้นความเป็นแม่ของแฮงซอน ก็เพื่อรอยยิ้มเจ้าตัวน้อยคนนี้ ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน แฮอีก็ยังเป็นเจ้าตัวน้อยที่เป็นเหมือนแสงแดดที่เจิดจ้า ที่ทำให้โลกใบนี้ช่างสดใสสำหรับแฮงซอนเสมอ

แม่ทุกคนก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน

เชื่อว่าที่ ผกก. เลือกจะให้เราได้ชมภาพจุดเริ่มพร้อมกับปัจจุบัน
เพื่ออาจจะอยากให้เราได้หวนนึกถึงว่า…

“เรายังจำวันแรกของการเป็นแม่ได้อยู่ใช่ไหม
วันนั้น ความสุขของเราคือการได้เห็นรอยยิ้มของลูก ได้กอดเขาแน่นๆแค่นั้นเอง”

ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่านั้นเลย 😊

เป็นบทสรุปส่งท้ายซีรีส์ฟีลกู้ดที่แทรกสาระเกี่ยวกับความรักและครอบครัว(โดยเฉพาะพ่อแม่)ได้อย่างอบอุ่นหัวใจ

ใครไม่เสียน้ำตาให้ซีนนี้คือเก่งมาก

Leave a Reply