รีวิว Minari – ในที่สุดก็มาถึงคิวของภาพยนตร์ที่หลายคนรอคอย กับหนังสัญชาติอเมริกัน กลิ่นอายเกาหลี ดีกรีระดับโลก เรื่อง “Minari” นำแสดงโดย สตีเฟ่น ยอน, ฮันเยริ และ ยูจุงยอน เรื่องราวแสนธรรมดาของครอบครัวชาวเกาหลีที่ตัดสินใจอพยพมาลงหลักปักฐานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับความฝันแบบ “American Dream” ด้วยความเชื่อที่ว่าความสำเร็จ และความมั่งคั่งสามารถเป็นจริงได้ ด้วยการทำงานอย่างหนัก และขยันขันแข็ง ด้วยความมุ่งมั่นของหัวหน้าครอบครัวอย่าง “เจคอบ” ที่มีความฝันจะซื้อที่ดินขนาดใหญ่ ทำฟาร์มผักเกาหลีเป็นของตัวเอง เลี้ยงดูชีวิตคนในครอบครัว และร่ำรวยจากอาชีพนี้ให้ได้
แต่ดูเหมือนว่าสำหรับ “โมนิกา” ภรรยาของเขา กลับไม่ได้มีความรู้สึกร่วม หรืออินไปกับสิ่งที่สามีของเธอกำลังทำอยู่เลย ในทางตรงกันข้าม เธอกลับรู้สึกว่าสิ่งที่ เจคอบ กำลังทำอยู่มันมีโอกาสล้มเหลวสูงมาก ไหนจะคุณภาพชีวิตของลูกสาว กับลูกชายคนเล็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ การย้ายบ้านมาไกล ห่างจากโรงพยาบาลในเมือง ยิ่งสร้างความกังวลให้กับเธอมากขึ้นทุกวัน ไหนจะฝีมือการทำงานแยกเพศลูกเจี๊ยบที่หากเปรียบเทียบกันแล้ว ฝีมือของเธอยังถือว่าช้าอยู่มาก ทุก ๆ วันในครอบครัวหลังเลิกงาน แทนที่จะกลายเป็นภาพครอบครัวอบอุ่น ทนข้าวร่วมกัน ส่งลูกเข้านอน กลับกลายเป็นภาพของ โมนิกา กับ เจคอบ ยืนทะเลาะกันต่อหน้าลูกทั้งสองคน นี่คือความสัมพันธ์ที่แย่ และ เจคอบ ก็รู้ดีว่า ยิ่งปล่อยไว้นานวัน ครอบครัวที่เขาพยายามรักษาไว้อาจจะไปไม่รอด คนเดียวที่เขาไว้ใจได้ และคิดว่า โมนิกา ต้องดีใจมากแน่นอน คือ ซุนจา รับบทโดย ยูจุงยอน “แม่ยาย” ของเขาเอง
เธอหอบหิ้วความเป็น “เกาหลี” มาเต็มกระเป๋า ผ่านวัตถุดิบอย่าง พริกป่น และปลาแห้ง ของฝากเล็ก ๆ ที่ทำเอาน้ำตาของ โมนิกา ไหลออกมาด้วยความดีใจ เหมือนได้กลับไปอยู่ที่บ้านเกิดของตัวเองอีกครั้ง แต่ความเป็นเกาหลี” ที่คุณยายหอบหิ้วมานั้น ใช่ว่าทุกคนในครอครัวจะชอบใจ โดยเฉพาะลูกชายคนเล็กของบ้านอย่าง “เดวิด” ที่เติบโตมาด้วยความคุ้นชินกับวัฒนธรรมแบบอเมริกัน ทำให้เด็กเกาหลีอย่างเขามีความเป็นปัจเจกชนสูงมาก เขาไม่ชอบแทบจะทุกอย่างที่ยายทำ ไม่ชอบที่ย้ายเคี้ยวของกิน ก่อนจะยื่นมาให้เขา ไม่ชอบที่ยายบังคับให้เขากินน้ำสมุนไพรที่มันไม่อร่อย ถึงขนาดแอบเทน้ำนั้นรสชาติแย่นั้นทิ้ง แล้วเอาฉี่ของตัวเองให้คุณยายดื่ม แต่คุณยายกลับไม่เคยลงโทษ หรือตีเขาเลย ตรงกันข้าม คุณยายเป็นคนที่อยู่ข้างเขา คอยบอกพ่อกับแม่ของเขา ว่าเขาเป็นแค่เด็ก เขายังไม่รู้เรื่องอะไร แม้แต่ของขวัญแรกที่เขาได้รับจากคุณยาย ก็ยังเป็นไพ่โกสต็อป ที่ดูเหมือนคนที่สนุกที่สุดในการเอาชนะ จะเป็นตัวของคุณยายเอง ไม่แปลกเลย ที่ในมุมมองของเด็กอย่าง เดวิด คุณยายของเขา จะดูเหมือนไม่ใช่ “ยาย” ในอุดมคติของอเมริกันชนที่ดูอบอุ่น และพูดจาดี
แต่หากมองอีกมุม การมาถึงของ คุณยายซุสไตล์บ้าน ๆ แบบ “ซุนจา” กลับกลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่าง “โลกตะวันออก” กับ “โลกตะวันตก” เหมือนกับแนวคิดการปลูก “มินาริ” ไว้ริมลำธารของคุณยาย ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นชื่อภาพยนตร์ “มินาริ” ที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับ “ความหวัง” และ “ความอดทน” เพราะในขณะที่ เจคอบ พยายามอย่างหนักที่จะปลูกผักเกาหลีให้งอกงามบนที่ดินที่เขามีในประเทศอเมริกา ร่วมกันกับ “พอล” เพื่อนบ้านผู้เคร่งครัดในหลักศาสนาคริสต์ “ดอกมินาริ” ที่คุณยายนำมาปลูกไว้ริมลำธาร แบบไม่ต้องใส่ใจดูแล กลับเรียนรู้ที่จะ “ปรับตัว” เพื่ออยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่มันเองก็ไม่คุ้นเคย
นี่คือเสน่ห์ของหนังจากค่าย A24 ที่เลือกจะเล่าเรื่องให้ง่าย ไม่ซับซ้อนมากมายอะไร แต่ข้างในความง่ายนั้น กลับมีตัวละครมากมาย ที่สะท้อนตัวตนของบทบาทในครอบครัวทั่วโลกแบบไม่จำกัดว่าต้องเป็นชนชาติไหนถึงจะเข้าใจ หรืออินไปกับเรื่องราวใน Minari เพราะอารมณ์ หรือประสบการณ์แบบที่ถูกมองว่า “เป็นตัวประหลาด” ในสังคมใดสังคมหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแค่กับคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่มันเกิดขึ้นทุกวัน กับคนนับล้านบนโลกใบนี้ ยกตัวอย่างตัวละครหลักของเรื่อง เช่น “โมนิกา” คุณแม่ลูกสอง ที่ภายนอกดูเหมือนจะเข้มแข็ง แต่ภายในใจของเธอเต็มไปด้วยความกลัว ประหม่า ไม่มั่นใจกับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย แต่เพราะมีลูกสองคนคอยมองเธออยู่ ในฐานะ “แม่” ต้องเข้มแข็ง และยืนหยัดเพื่อสนับสนุนคนในครอบครัวได้
ตัดภาพมาที่ตัวละครอย่าง “เจคอบ” เขามีสถานะเป็น “เสาหลักของบ้าน” ตัดสินใจเรื่องทุกอย่างแทนทุกคน ทำงานหนัก หาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว การมีที่ดินเป็นของตัวเอง มีฟาร์มเป็นของตัวเอง ทุกคนน่าจะยอมรับได้ ที่จะทำตามความฝันของเขาสักครั้ง แม้ว่าความฝันนั้น จะทำให้ตัวเองต้องทะเลาะกับภรรยาแทบทุกวันก็ตาม
ประโยคนึงในหนัง ที่เราคิดว่า มันคือที่สุดของความรู้สึกแล้ว ที่เจคอบพูดออกมา คือ ตอนที่เขาขอให้ โมนิกา สระผมให้ แล้วบอกกับเธอว่า ถ้าผมทำไม่สำเร็จ คุณจะพาลูกไปก็แล้วแต่คุณจะตัดสินใจเลย มันคือซีนที่ทำให้เรานึกถึงคำตอบที่เขาเคยพูดกับ เดวิด ตอนที่คุณยายยังไม่มา เรื่องที่ว่า ทำไมต้องแยกเพศไก่ด้วยว่า เพราะไก่ตัวผู้มันไม่มีประโยชน์ กินก็ไม่อร่อย ออกไข่ก็ไม่ได้ ลูกต้องทำตัวให้มีประโยชน์ถึงจะอยู่รอด ในวินาทีนั้น เจคอบ คงรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะกลายเป็นไก่เพศผู้เหล่านั้น ที่ไม่มีประโยชน์อะไรต่อครอบครัวนี้ และในที่สุด สิ่งที่เจคอบ กลัวก็เป็นความจริง เมื่ออุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ทำให้ไฟไหม้โรงเก็บผลผลิตแห่งเดียวของฟาร์มจนไม่เหลือชิ้นดี แต่ก็นั่นแหละ ชีวิตของคนเราเมื่อเกิดมาแล้ว มักจะต้องต่อสู้กับชะตากรรมอันโหดร้ายแบบนี้ ชีวิตของ เจคอบ และครอบครัว ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นเช่นกัน
ภาพของ “ต้นมินาริ” ที่คุณยายนำมาปลูกไว้ริมลำธาร ไม่ใช่แค่สิ่งที่เตือนสติเขาเท่านั้น ว่าความขยัน ไม่ใช่ทุกอย่างของความสำเร็จ แต่เป็นการรู้จักปรับตัว เปิดรับความช่วยเหลือ เปิดรับความเปลี่ยนแปลงต่างหาก ที่จะทำให้ครอบครัวของเขา เติบโต และงอกงาม บนแผ่นดินที่ไม่ใช่บ้านเกิดแห่งนี้ได้ ไม่ต่างอะไรกับ ต้นมินาริของคุณยาย พวกมันไม่เคยร้องขอการดูแลอะไร พวกมันไม่เคยเรียกหาการเอาใจใส่ พวกมันแค่ถูกปลูกไว้ เรียนรู้แผ่นดินผืนใหม่ แล้วงอกงามไปในแบบที่มันควรจะเป็น
รับชม Minari ได้ทั้งแบบพากย์ไทย และซับไทยที่ Netflix