รีวิว Rebound – สนุกเหมือนดูในสนามบาส สร้างจากเหตุการณ์จริงในปี 2012

You are currently viewing รีวิว Rebound – สนุกเหมือนดูในสนามบาส สร้างจากเหตุการณ์จริงในปี 2012

รีวิว Rebound – ถ้าพูดถึงหนังหรือซีรีส์กีฬาของเกาหลี หลายคนอาจจะนึกถึงซีรีส์เบสบอลระดับขึ้นหิ้งอย่าง Hot Stove League (2019) ที่ส่งให้นักแสดงนำอย่าง “นัมกุงมิน” ได้รับรางวัลแดซัง (รางวัลใหญ่ที่สุด) จากเวที SBS Drama Awards 2020 ด้วยพล็อตเรื่องที่เข้มข้น เปิดเผยทุกความจริงเบื้องหลังวงการกีฬา บวกกับพลังของเหล่านักแสดงระดับคุณภาพทำให้เรื่องราวในซีรีส์ไม่ได้มีแค่มิติของตัวละครเพียงตัวเดียว แต่ยังบอกเล่ามุมมองของคนที่เป็นโค้ช เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ และเหล่านักกีฬาที่ต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายทั้งในสนาม และนอกสนาม ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจุดกระแสซีรีส์กีฬาในเกาหลีให้กลับมามีที่ยืนอีกครั้ง

สำหรับหนังเกาหลีเรื่อง “Rebound” ผลงานของผู้กำกับจางฮังจุน ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อ้างอิงมาจากเหตุการณ์จริง ของทีมบาสเก็ตบอลโรงเรียนมัธยมจุงอัน ภายใต้การนำของโค้ชทีมบาสเก็ตบอลอย่าง “คังยังฮยอน” รับบทโดย อันแจฮง กับภารกิจรวบรวมสมาชิกทีมบาสเก็ตบอลของโรงเรียน ในวันที่ไม่มีใครเชื่อว่าทีมบาสเก็ตบอลของจุงอัน จะสามารถคว้าชัยชนะมาจากสนามแข่งได้ ยิ่งมาอยู่ในมือของคนที่เคยเป็นแค่นักบาสเก็ตบอลในลีกรอง ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรในระดับที่น่าจดจำอย่าง โค้ชยังฮยอน ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของเขาลดลง

Rebound Korean Movies 2022

แต่ด้วยความมุ่งมั่นของคนที่มีความฝันอยากทำให้เป้าหมายของตัวเอง และเด็กคนอื่นกลายเป็นความจริง ยังฮยอน จึงได้เริ่มต้นเส้นทางการเป็นโค้ชทีมบาสเก็ตบอลมัธยม ด้วยการออกตามหานักกีฬามาเสริมทีม จำนวน 6 คน ประกอบไปด้วย “ชอนกีบอม” รับบทโดย อีชินยอง, “แบกยูฮยอก” รับบทโดย จองจินอุน , “ฮงซุนกยู” รับบทโดย คิมแทค ,“จองคังโฮ” รับบทโดย จองกอนจู , “ฮอแจจุน” รับบทโดย คิมมิน และ “จองจินอุค” รับบทโดย อันจีโฮ ตรงนี้คือจุดที่ผู้กำกับใส่รายละเอียดเข้ามา เพื่อให้เรารู้ว่าจุดเริ่มต้นของแต่ละคนกว่าจะมารวมตัวกัน มีที่มาที่ไปยังไง บางคนก็เป็นอันธพาล บางคนก็มีอาการบาดเจ็บเรื้อรังแต่ยังมีความฝันที่อยากเล่นบาสเก็ตบอล ส่วนบางคนก็ดูเหมือนจะไม่เชื่อมั่นในตัวของโค้ช แต่สุดท้ายก็เลือกจะมาเข้าร่วมทีมที่ดูไม่มีแววจะเข้ารอบชิงแชมป์ทีมนี้

จุดเด่นอย่างนึงที่เราคิดว่า “Rebound” ทำออกมาได้โดดเด่นมาก คือ ฉากการแข่งขันในสนามที่สมจริง และเข้มข้น เหมือนกับว่าผู้ชมกำลังดูการแข่งขันอยู่ในสนามบาสจริง ๆ โดยในหนังเรื่องนี้ ทั้ง 6 คน และอีก 1 โค้ช ต้องฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน KBA National Tournament ด้วยจำนวนผู้เล่นเพียง 6 คน ในขณะที่ทีมส่วนใหญ่เลือกจะส่งผู้เล่น 15 – 16 คน รวมผู้เล่นตัวสำรอง เพื่อให้ตัวจริงมีโอกาสได้เปลี่ยนตัวลงมาพักนอกสนาม เพราะการแข่งขันบาสเก็ตบอลต้องใช้พลังงานระหว่างเกมเยอะมาก

Rebound

สำหรับการแข่งขันที่น่าจดจำที่สุด แน่นอนว่าต้องเป็นเกมรอบชิงชนะเลิศ ที่ผู้เล่นแต่ละคนต่างก็สะสมความเหนื่อยล้ามาจากการแข่งขันก่อนหน้า จนแทบจะยืนระยะในสนามไม่ไหว แต่ด้วยหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ ถึงแม้จะต้องเล่นกันแค่ 5 คน จากจำนวนผู้เล่นทั้งหมด 6 คน ที่เกิดอาการบาดเจ็บระหว่างเกม บวกกับการได้เผชิญหน้ากับทีมคู่แข่งที่ประวัติการเล่นในสนามสูงกว่า ทำให้ทีมมัธยมจุงอันตกเป็นมวยรอง ที่ใคร ๆ ก็อยากส่งแรงเชียร์ ถึงตรงนี้เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่กับนักกีฬา แต่ชัยชนะที่่ผ่านมาของทีม ทำให้เหล่าเพื่อนร่วมชั้นเรียน และคุณครู กับผู้บริหารในโรงเรียนที่ไม่ได้ตั้งความหวังกับทีมบาสของโรงเรียนตัวเองมาตั้งแต่แรก เกิดความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไป

การสื่อสารตรงนี้เป็นอะไรที่คลาสสิคมาก สำหรับการถ่ายทอดเรื่องราวของมวยรอง เพราะหนังปูมาตลอดว่าทีมบาสทีมนี้ เป็นเหมือนกับความผิดหวังของทุกคน ตั้งแต่การทำผลงานที่ไม่ค่อยดีในช่วงต้น แล้วค่อย ๆ ปรับปรุงทีมจนมาถึงจุดที่พัฒนาแบบหยุดไม่อยู่ ทำให้ศรัทธาที่ทุกคนเคยไม่เชื่อว่ามี สามารถเรียกเสียงเชียร์ และแรงใจจากทุกคนที่โรงเรียนได้อีกครั้ง ประเด็นนี้ต้องชมตัวละครหลักของเรื่องอย่าง “คังยังฮยอน” รับบทโดย อันแจฮง ที่เป็นเหมือนหัวใจของการขับเคลื่อนเรื่องราวให้ไปข้างหน้า

Ahn Jae Hong , Rebound

อันแจฮง ใน Rebound

อันแจฮง ถ่ายทอดตัวละครนี้ออกมาด้วยพื้นฐานที่ว่า ไม่มีใครเพอร์เฟกต์ไปทั้งหมด ทุกคนมีความกลัวเป็นของตัวเอง มีจุดที่อยากจะก้าวข้ามไปด้วยกันทั้งนั้น

สำหรับ ยังฮยอน ความกลัวนั้นก็คือตัวเขาเอง เขามักจะพูดเสมอว่า ถึงการแข่งจะสำคัญ แต่ร่างกายของทุกคนสำคัญกว่า เขาเชื่อมั่นเสมอว่า เด็กที่เขาเลือกมากับมือจะสามารถทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ บางคนถูกแขวนเป็นตัวสำรอง ไม่มีใครเชื่อว่าจะกลายมาเป็นตัวเปลี่ยนเกม แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็นเขาก็สามารถทำคะแนนแทนเพื่อนในทีมที่บาดเจ็บได้

ถึงตรงนี้ เราขอกลับมาพูดถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้นในการแข่งขันนัดสุดท้าย และซีนจบของหนังที่น่าประทับใจ หนังเลือกจะใช้ภาพถ่ายจริงของนักกีฬาที่มีตัวตนอยู่จริงในทีม มาซ้อนทับกับภาพของนักแสดงในเรื่อง ในฉากการแข่งที่ดุเดือดระหว่างทั้งสองทีม มีจุดนึงที่ กีบอม พูดเดือนสติ ยูฮยอก เรื่องอาการบาดเจ็บของข้อเท้าที่หากยังฝืนเล่นในสนามมันจะไม่มีทางย้อนกลับไปได้แล้ว แต่อีกฝ่ายกลับตอบมาแบบเด็ดเดี่ยวว่า “ข้อเท้าฉันมันสายเกินไปแล้ว มาใช้มันเป็นครั้งสุดท้ายให้คุ้มกัน”

ถึงแม้ว่าที่สุดแล้ว ผลการแข่งขันจะเป็นไปอย่างที่หลายคนคาดคิด แต่หากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เล่นที่ หนังมีการใส่เหตุการณ์จริงเข้าไปว่า สุดท้ายในการแข่งครั้งนั้น เหลือผู้เล่นเพียงแค่ 3 คน ในสนาม แต่พวกเขาก็สามารถทำคะแนนไล่ตามทีมคู่แข่ง จนเหลือระยะห่างเพียงแค่ 10 คะแนน เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งการเดินทางแบบปาฏิหาริย์ของทีมบาสม้ามืดจากปูซาน ที่กลายมาเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้ และที่น่ายินดีกับทีมงาน คือ หนังได้รับรางวัล Silver Mulberry จากเทศกาล Far East Film Festival เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

รับชมได้แล้วแบบถูกลิขสิทธิ์ พร้อมซับไทยที่ Viu

Rebound Movies Review

Leave a Reply