ซีรีส์เกาหลีแนวแก้แค้นกำลังเป็นกระแส

You are currently viewing ซีรีส์เกาหลีแนวแก้แค้นกำลังเป็นกระแส

เมื่อเร็ว ๆ นี้เหล่าผู้เชี่ยวชาญได้พูดคุยถึงความนิยมของซีรีส์เกาหลีที่มีพล็อตแก้แค้นซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมบันเทิง

จากข้อมูลของอุตสาหกรรมบันเทิงในวันที่ 20 ซีรีส์ของช่อง SBS เรื่อง “Taxi Driver 2” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้แค้นโดยไม่มีทางให้อภัยมีกระแสตอบรับที่มีรองมาจาก “The Glory” ซีรีส์ของ Netflix

“The Glory” เป็นซีรีส์แนวแก้แค้น เรื่องราวปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน มีการรับชมสูงถึง 124.46 ล้านชั่วโมงภายในสัปดาห์แรกของการออกออกอากาศ และติดอันดับสูงสุดในชาร์ต Netflix TV Show ในขณะเดียวกัน “Taxi Driver 2” เรื่องราวของตัวแทนการแก้แค้นของเหยื่อผู้บริสุทธิ์ในคดีอาชญากรรมต่าง ๆ นี้ได้เรตติ้งสูงสุดอยู่ที่ 16% และเป็นที่ 1 ของซีรีส์สุดสัปดาห์

ก่อนที่ “The Glory” และ “Taxi Driver 2” จะออกอากาศ ซีรีส์แนว “แก้แค้น” ก็เริ่มเป็นพล็อตยอดนิยมที่ให้ความตื่นเต้นที่น่าพอใจกับผู้ชม

ซีรีส์เรื่อง “Payback” ที่จบไปเมื่อเดือนก่อนเล่าเรื่องของคนที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ายาเสพติดที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายและมีเงิน และกลับมาโค่นล้มขบวนการค้ายาเสพติดโดยใช้กฎหมายและเงิน หรือ “Reborn Rich” ที่เป็นซีรีส์ยอดฮิตเมื่อปีที่แล้ว เรื่องราวของเลขาบริษัทที่ย้อนเวลากลับไปเปิดเผยความลับต่าง ๆ หลังจากถูกฆ่าโดยไม่รู้สาเหตุ

Payback

Vincenzo” (2021, tvN) วินเซนโซ่ ทนายมาเฟีย เรื่องราวของทนายมาเฟียที่จัดการคนร้ายด้วยวิธีของเขา, “Itaewon Class” (2020, JTBC) เรื่องราวการกบฏของนายทุนอายุน้อย และ “The World of the Married” (2020, JTBC) เรื่องราวการแก้แค้นอันขมขื่นต่อสามีที่นอกใจ ผลงานทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมีพล็อต “การแก้แค้น” เหมือนกัน

นักวิเคราะห์กล่าวว่าความนิยมของซีรีส์แนวแก้แค้นมาจากความไม่พอใจของผู้คนต่อสังคมที่ไม่สามารถลงโทษอาชญากรได้อย่างเหมาะสม การแก้แค้นเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้แน่ใจว่าคนชั่วเหล่านั้นจะได้รับการลงโทษที่สาสมกับสิ่งที่พวกเขาทำ ทำให้ผู้ชมพอใจมาก

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือซีรีส์แนวแก้แค้นแต่ก่อนมักจบลงด้วยการตระหนักถึงความยุติธรรมทางสังคมด้วยการยอมรับผิดและส่งอาชญากรเข้าคุก แต่ปัจจุบันเน้นไปที่การแก้แค้นส่วนตัวที่ทำให้คนทำผิดเหล่านั้นชีวิตพังทลายเหนือกระบวนการทางกฎหมาย

ใน “The Glory” พวกอันธพาลรังแกเหยื่อด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งใช้ที่หนีบผมร้อน ๆ แนบไปบนแขน นอกจากนี้ยังมีเพื่อนคนอื่นเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดและครูที่เพิกเฉยต่อการรังแก พวกเขาทั้งหมดได้รับการลงโทษที่สาสมไม่ว่าจะเป็นความตายหรือร่างกายที่พิการไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่

เช่นเดียวกันกับ “Taxi Driver 2” การกระทำที่แสนชั่วร้ายต่าง ๆ เช่น องค์กรที่หลอกคนหนุ่มสาวให้ไปทำงานในต่างประเทศแต่จับไปทำร้าย, นายหน้าขายอพาร์ทเม้นท์ผิดกฎหมาย, ผู้นำทางศาสนาตัวปลอมและคนร้ายคนอื่นไม่เพียงแต่ได้รับการลงโทษทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องรับผลที่ตามมา อดทนกับความผิดที่พวกเขาทำ

ชเวฮยังซอบ ศาสตราจารย์ภาคสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยกุกมินกล่าวว่า “สิ่งที่ ‘The Glory’ และ ‘Vincenzo’ มีเหมือนกันคือซีรีส์ทั้ง 2 เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการแก้แค้นส่วนตัวแทนที่จะเป็นความยุติธรรมที่ถูกตัดสินโดยรัฐบาลหรือกฎหมาย อีกความหมายนึงก็คือตัวละครหลักจะเป็นคนจับคนร้ายด้วยตัวเอง”

ศาสตราจารย์อธิบายว่า “คนเรามักจะบ่นว่าความยุติธรรมในสังคมแทบไม่มีจริง กฎหมายไม่ช่วยอะไร เพราะคนไม่ค่อยเชื่อในกฎหมายแล้ว ผู้คนจึงเริ่มชอบการแก้แค้นส่วนตัวมากกว่าการแก้แค้นด้วยกฎหมาย”

ประเด็นต่าง ๆ ของซีรีส์พล็อตแก้แค้นก็แตกต่างกันไปเช่นกัน

แต่ก่อนซีรีส์แนวแก้แค้นจะจำกัดเฉพาะเรื่องส่วนตัว เช่น การเสียชีวิตของคนในครอบครัว เริ่มจากซีรีส์คลาสสิกเรื่อง “Temptation of Wife” (2008, SBS) ส่วนซีรีส์แนวแก้แค้นสมัยใหม่ให้ความสนใจกับ “ฮีโร่ในมุมมืด” หรือตัวละครที่มีความสามารถทำให้ความชั่วร้ายในสังคมเป็นกระแส

One Dollar Lawyer” (2022, SBS) เรื่องราวของทนายความคนเก่งที่ตามล่าคนที่ฆ่าแฟนของเขาและเขายังยืนหยัดเพื่อคนที่อ่อนแอในสังคม หรือเรื่อง “Again My Life” (2022, SBS) อัยการที่ถูกฆ่าขณะสืบสวนนักการเมือง เขามีโอกาสได้ใช้ชีวิตครั้งที่ 2 เพื่อล้างบางความชั่วร้าย นี่เป็นตัวอย่างของพล็อตการแก้แค้นส่วนตัวกับความไม่ยุติธรรมในสังคม

One Dollar Lawyer

แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากซีรีส์แนวแก้แค้นที่มีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ

ซีรีส์แนวแก้แค้นมักใช้หัวข้อที่ยั่วยุและกระตุ้นผู้ชม เช่น การฆาตกรรม, การทำร้ายร่างกาย และความรักใคร่ เพื่อให้การแก้ แค้นเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย

Eve” (2022, tvN) บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงที่เสี่ยงชีวิตเพื่อทำลายพวกไฮโซ เรื่องนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกับฉากยั่วยุ เช่น การทรมาน, เซ็กส์ และการทำร้ายตัวเอง หรือซีรีส์ที่สร้างจากเว็บตูนเรื่อง “The King of Pigs” (2022, TVing) เรื่องราวการแก้แค้นของเหยื่อความรุนแรงในโรงเรียนผ่านการฆาตกรรมซึ่งได้รับการตอบรับในเชิงลบเพราะฉากนองเลือดและความรุนแรงที่ทำให้ผู้ชมไม่สบายใจ

กงฮีจอง นักวิจารณ์ภาพยนตร์กล่าวว่า “เมื่อมีแพลตฟอร์ม การแข่งขันด้านเนื้อหาก็เพิ่มมากขึ้น ระดับการแสดงออกและข้อความที่ถ่ายทอดผ่านผลงานก็เช่นกัน ถ้าซีรีส์แนวแก้แค้นเน้นเฉพาะแค่การแสดงความโกรธของตัวละคร ความคิดที่อยู่เบื้องหลังว่าทำไมตัวละครถึงอยากแก้แค้นอาจไม่สามารถแสดงให้ผู้ชมเห็นได้อย่างถูกต้อง แทนที่จะผลิตซีรีส์ออกมาเพียงอย่างเดียว แต่ทีมงานควรพยายามถ่ายทอดความหมายที่สำคัญที่แฝงไว้ออกมาด้วย”

ที่มา Wiktiree

Leave a Reply