ภาคต่อของเกมสุดโหดที่ต้องแลกด้วยชีวิต #SquidGame
(มีสปอยล์ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับชม)
หลังจากที่สร้างปรากฏการณ์ความมันส์ในภาคแรกไปทั่วทั้งโลก ครั้งนี้ “เล่น ลุ้น ตาย” กลับมาพร้อมกับความแค้นของซองกีฮุน(รับบทโดย อีจองแจ) ผู้ชนะจากเกมในภาคแรกที่จำเป็นต้องกลับเข้าสู่เกมอีกครั้งคราวนี้ไม่ใช่เพื่อเงิน แต่เพื่อทำลายระบบที่เขาเคยเป็นเหยื่อ
[ การเล่นเกม = สังคม ]
ภายใต้เกมการละเล่นดูสนุก บรรยากาศสดใส Squid Game ได้ซ่อนประเด็นที่ถูกเล่าถึงบ่อยๆในโลกภาพยนตร์ที่อาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหม่อย่างระบบทุนนิยม แต่สิ่งที่ทำให้ Squid Game ถูกจดจำและพาคนดูลุ้นไปตามๆกัน ก็คือ การเดินเรื่องผ่านเกมการละเล่นในวัยเด็กที่คนเกาหลีคุ้นเคยกันดี มีกติกาไม่ได้ซับซ้อนนี่ล่ะ ซึ่งสามารถดึงความสนุก ความมันส์ได้อย่างออกรส ไม่ต่างกับเกมในชีวิตจริงในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงินและมีกติกาเพียงข้อเดียวคือชนะเท่านั้น
การเล่นเกมใน Squid Game จึงเป็นภาพสะท้อนความจริงที่แสนโหดร้ายของสังคมระบบทุนนิยมที่ทั้งกดทับให้เราต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดแบบไม่สนใคร และหล่อหลอมให้คนส่วนใหญ่กลายเป็นส่วนหนึ่งของมันอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเมื่อค้นปูมหลังของผู้เล่นแต่ละคน ล้วนต่างก็เป็นเหยื่อของระบบนี้ที่ศรัทธาบูชาในเงินและเชื่อว่า “เงินคือทุกสิ่ง” บรรดาผู้เล่นต่างก็มีหนี้สินท่วมตัวจากระบบที่ออกแบบมาให้พวกเขาต้องยอมก้มหน้ารับมัน ในขณะที่กลุ่มคนที่ควบคุมเกม เปรียบเสมือนกลุ่มคนบนยอดพีรามิดที่ครอบครองทั้งเงิน อำนาจ สามารถดลบันดาลทุกสิ่งได้ดั่งใจ หรือแม้แต่สวมบทเป็นพระเจ้าในการคิดกลเกมนี้ขึ้นมาสร้างความบันเทิงด้วยชีวิตจากพวกผู้เล่นในเกม
สำหรับซีซั่น 2 นี้ Squid Game กลับมาพร้อมกับการเล่าเรื่องที่เข้มข้นขึ้น ซีรีส์ได้เพิ่มน้ำหนักให้กับการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมและชี้ให้เห็นถึงความเป็นคนที่ถูกท้าทาย เนื้อหาจึงค่อนไปทางหนักมากกว่าลุ้นระทึกกับเกม ตัวละครและเหตุการณ์ในซีรีส์ยังคงเป็นภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในโลกจริง เมื่อเรามองเข้าไปในเกมที่มี “กติกา” ก็ไม่ต่างจากสังคมเราที่มี “กติกา” ให้เราอยู่ร่วมกัน เมื่อมีคนผิดกฎ ก็จะเจอบทลงโทษ ซึ่งในโลกความเป็นจริงของสังคมของคือกฎหมายที่คอยรักษาความสงบให้สังคม ส่วนคนที่เล่นไปตามเกมและมีชีวิตรอดได้ ก็จะได้รับเงินรางวัลนั้นก็เหมือนกับชีวิตของเราทุกคนที่ต้องเป็นไปตามกติกาเพื่อรางวัลอันสูงสุด แม้ในเกมจะใช้ “เงิน” แทนค่าของรางวัลของผู้ชนะที่แลกมาด้วยชีวิตของคนที่พ่ายแพ้ในเกมไป แต่ในชีวิตจริง “เงิน” อาจไม่ใช่รางวัลเพียงสิ่งเดียว แต่สังคมจะมอบการยอมรับ ให้คุณค่า ก่อให้เกิดอำนาจทีละน้อยและเมื่อมันมากพอก็จะสามารถชักนำผู้คนในสังคม หรือแม้แต่ควบคุมสังคมให้เป็นไปตามใจได้ในที่สุด
[ ความเป็น “คน” ที่ถูกท้าทาย]
แต่สิ่งแปลกประหลาดที่ซีรีส์ได้ใส่มาเพิ่มเพื่อสร้างมุมมองใหม่ของคนบางคนที่ต้องการต่อต้านสังคมที่โหดร้ายนั้น ซีรีส์จึงเลือกให้ “จองกีฮุน” ผู้ชนะในเกมครั้งก่อนตัดสินใจเข้าสู่เกมอีกครั้ง โดยใช้เงินรางวัลที่ได้เป็นเครื่องมือในการหาหนทางกลับเข้าสู่เกมเพื่อไปทำลายมัน ในจุดนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่ซีรีส์ได้เสียดสีถึงอำนาจของเงินในโลกของความเป็นจริง ว่าการต่อสู่กับอำนาจไม่ใช่ใครก็ทำได้ ต้องอาศัยเงินเพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าสู้เหมือนกัน ดังนั้น คนที่ไม่มีเงินหรือชนชั้นที่ต่่ำหว่าจึงไม่สิทธิเรียกร้องหรือมีปากเสียงอะไรที่จะแข็งขืนกับระบบ หรือแม้แต่สร้างความเป็นธรรมในโลกของตัวเอง คนเหล่านั้นทำได้เพียงก้มหน้าเดินไปตามเกมหรือความบันเทิงที่บรรดา “พระเจ้า” สร้างไว้เท่านั้น
ความตั้งใจของกีฮุนที่จะไปล้มเกม แต่สุดท้ายเขากลับถูกเกมเล่นตลกกับเขาอีกจนได้ แม้เขาจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้เหล่าผู้เล่นที่หมดหนทางเดินออกจากเกมไปพร้อมเงินรางวัลที่แบ่งสรรอย่างเท่ากัน แต่มันก็ไม่เพียงพอสำหรับชีวิตของผู้เล่นแต่ละคน ซึ่งจุดนี้ก็เป็นการสะท้อนความจริงที่แสนเศร้าใจ เพราะเหล่าผู้คนที่ลุกขึ้นประท้วงหรือพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมที่ให้ความรู้สึก ”เป็นปกติ” สำหรับพวกเขา มักถูกมองว่า “แปลกประหลาด” หรือไม่ก็เป็น “คนโง่” แม้ว่ากติการจะไม่ยุติธรรมแค่ไหนก็ตาม เมื่อทุกคนต่างยอมรับ ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ต้องเดินตามกัน คนที่อยากแตกแถวจึงเป็นแค่ “คนโง่” ที่ออกนอกเส้นทางในสายตาผู้เล่นและผู้คุมเกมข้างบน และคนบ้าเท่านั้นที่จะไม่เห็นค่าของเงิน นี่คือชุดความคิดที่ระบบทุนนิยมได้ป้อนใส่ไว้ในสำนึกของผู้คนในสังคม
ซึ่งความแปลกแตกต่างของกีฮุน สะท้อนภาพถึงการลุกขึ้นของคนบางกลุ่มในสังคม และหากความแปลกจากคนเพียงคนเดียว ย่อมไม่สามารถสร้าง “ความปกติใหม่” ให้เกิดขึ้นได้ และบ่อยครั้ง คนโง่ที่ “กล้า” เหล่านี้ก็จะถูกระบบกลืนกินในที่สุด หรือไม่ก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าพวกเขาไม่มีตัวเลือกนอกจากต้อง”เล่นไปตามเกม” และกลับเข้าสู่วังวนของ “ระบบ” เหมือนเคย ต่อให้ระบบจะเลวร้ายสักแค่ไหนก็ตาม แต่คนเพียงแค่หยิบมือก็ไม่สามารถชนะระบบ เงิน และอำนาจได้
[ สังคมที่ถูกสะท้อนผ่านเกม]
นอกจากนี้ ซีรีส์ยังทำให้เรื่องราวตื่นเต้นมากขึ้นอีกด้วยการเอา Front Man หรือผู้เล่น 001 ลงมาเล่นเกมอย่างใกล้ชิดกับกีฮุน คนที่ต้องการทำลายระบบของเขามากที่สุด ผู้เล่น 001 ที่ออดแบบเกมมาเป็นเครื่องมือทดสอบความกระหายในตัวมนุษย์ และเขาคงเชื่อว่าเพื่อ “เงิน” แล้วคนยอมทำทุกสิ่งแม้กระทั่งสิ่งนั้นจะทำให้ “หมดความเป็นคน” ก็ตาม ซึ่งกีฮุนก็ไม่ได้ต่างจากคนพวกนี้ในสายตาของ 001
นี่คือจุดที่ซีรีส์สะท้อนโลกแห่งความจริงได้อย่างเฉียบคมถึงปรากฏการณ์ทางสัมคมที่จำลองผ่านเกม
ว่าในสังคมอาจมี 2 ขั้วความเชื่อที่ขัดแย้งกันอยู่ และเมื่อคนจำนวนมากเชื่อสิ่งใดเหมือนๆกัน ก็จะสะท้อนความเป็น “สังคม” นั้น ๆได้เป็นอย่างดี เหมือนทุกวันนี้ที่สังคมมองว่า ยิ่งมีเงินมากเท่าไหร่ การเคารพนับถือและได้รับการยอมรับก็จะมากขึ้นเท่านั้น โดยไม่สนความดีเลวหรือศีลธรรมใดๆ
Squid Game 2 จึงเป็นเพียงพาร์ทแรกของการปูทางไปสู่ความโหดเหี้ยมของระบบที่แท้จริงในซีซั่น 3 ขณะเดียวกันก็ยังเป็นบทเริ่มต้นของบทพิสูจน์ศรัทธาถึงความเป็นคนของคนในสังคม ว่าจะลุกขึ้นมาเป็นคนโง่ที่บ้าอย่างกีฮุน หรือจะยอมแพ้แล้วให้ระบบกดทับกันต่อไป
เพราะความกล้าหาญทั้งหลายบนโลกนี้ล้วนเริ่มต้นจากคนโง่ที่คิดทำอะไรบ้าๆ เสมอ