ซีรีส์เรื่องล่าสุดของนักแสดงที่ขึ้นชื่อว่าเป็นลมหายใจสุดท้ายของภาคพื้นเอเชีย อย่าง “กงยู” ที่ห่างหายจากแวดวงซีรีส์ไปหลายปี กลับมาครั้งนี้ เขามาพร้อมกับซีรีส์ที่มีเนื้อหาหนักหน่วงตีแผ่กรอบสังคม และค่านิยมของเกาหลีต่อการสร้างครอบครัวด้วย “การแต่งงาน” จุดหมายปลายทางของความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักที่ต่างเชื่อว่า เป็นคำสัญญาของความสุขที่จะอยู่เคียงคู่เรากันไปจนวันสุดท้าย
นอกจากนี้ การแต่งงานยังเป็นเครื่องหมายถึง “ความปกติสุข” ที่สังคมขีดเขียนไว้ให้แก่เรา ก็เพราะเมื่อถึงวัยที่สมบูรณ์พร้อม สังคมก็จะเริ่มถามถึง “การแต่งงาน” และเมื่อคนนั้นยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดก็กลับถูกจัดหมวดไว้ว่าเป็นคนที่มีความสุขน้อยกว่าใคร หรือมีความด่างพร้อยจนไม่อาจเป็นที่ยอมรับของใครได้ คนปกติทั่วไปกลายเป็นคนมีตำหนิที่แปลกแยกจากสังคมไปโดยปริยายเพียงเพราะการมีคู่ชีวิตหรือการแต่งงานเท่านั้นเอง
The Trunk ซีรีส์ดรามา ทริลเลอร์ หยิบเอาเรื่องค่านิยม “การแต่งงาน” เหล่านี้มาเป็นใจความสำคัญ ผ่านการเข้ามาของภรรยาชั่วคราวอย่าง “โนอินจี” (รับบทโดย ซอฮยอนจิน) ที่ถูกว่าจ้างผ่านบริษัทรับจัดหาสามีภรรยา “NM” โดยเธอถูกว่าจ้างจากภรรยาตัวจริงของ “ฮันจองวอน” (รับบทโดย กงยู) ให้มาทำหน้าที่ภรรยาเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งซีรีส์ได้แบ่งการเล่าเป็น 2 ช่วงเวลา คือช่วงอดีตนับแต่ที่โนอินจีมาเป็นภรรยาของจองวอน ตัดสลับไปกับปัจจุบันที่ตำรวจได้พบศพนิรนามพร้อมกับกระเป๋าเดินทางปริศนา ก่อนที่ทั้งสองเส้นเวลาจะมาบรรจบกันในท้ายที่สุด พร้อมกับการเผยปูมหลังอันขมขื่นและรวดร้าวภายใต้เปลือกที่เคลือบความแหลกสลาย พังทลายไม่มีชิ้นดี
ของแต่ละคนที่ล้วนมาจากค่านิยม และกรอบสังคมที่ขีดให้เราต้องเดินตามแบบไม่แตกแถว ซึ่ง The trunk ได้สอดแทรกสัญลักษณ์และนัยยะที่สื่อประเด็นทางสังคมไว้อย่างเข้มข้น ผสมการแสดงจากฝีมือนักแสดงเบอร์ต้นของวงการ ทำให้ The Trunk มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนไม่อาจละสายตาไปสักนาทีเดียว
• ค่านิยมการแต่งงาน = บทพิสูจน์ความสำเร็จของความสัมพันธ์
หากเงินคือหลักฐานพิสูจน์ความสำเร็จหน้าที่การงานในสังคม การแต่งงานก็คงเป็นหลักฐานการพิสูจน์ความสำเร็จทางครอบครัวที่สังคมสร้างไว้ให้เราต่างเดินตามอย่างว่าง่ายเช่นกัน กลายเป็นโอกาสให้บริษัทอย่าง NM (ที่อาจย่อมาจาก Not Marriage) เปิดธุรกิจรับจัดหาสามีภรรยาชั่วคราวให้คนที่ต้องการการยอมรับทางสังคม หรือเปลือกที่เป็น “ปกติ” โดยซีรีส์ได้ฉายภาพเปรียบเทียบเรื่องราวระหว่างคู่แต่งงานหลากหลายคู่ ไม่ว่าจะเพื่อนซอยอนที่เป็นการแต่งงานจริงจากความสัมพันธ์จริงจนกลายเป็นครอบครัวตามสูตรสำเร็จ แม้ว่าภายนอกจะดูเป็นครอบครัวปกติทั่วไป แต่ภายในจิตใจของภรรยากลับถูกกัดกร่อนลงไปในทุกวัน หรือแม้แต่คู่ของ”ฮันจองวอน” ที่ไม่กล้าจะออกจากสถานะ “คู่แต่งงาน” กับอดีตภรรยา แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาจะดูขมขื่นและเต็มไปด้วยพิษร้าย สุดท้ายคือ “โนอินจี”กับอดีตคู่หมั้น เมื่อความต้องการแต่งงานของเธอที่เป็น ”ความปกติ“ ตามบรรทัดของสังคม นำไปสู่บาดแผลทางใจที่ยากจะลบลืม รวมไปถึงครอบครัวพ่อแม่ของจองวอนที่ต้องทนต่อการทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อรักษาภาพ “ปกติ” ในสายตาสังคมไว้ ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นเพียงเพราะสังคมให้ค่า “การแต่งงาน” เป็นการแสดงสถานะ “ความปกติสุข” ของชีวิตเรา เป็นบทสรุปสุดท้ายใน
ความสัมพันธ์ จนกลายเป็นโซ่ตรวนให้คนไม่กล้าเดินออกจากสถานะคู่แต่งงานแม้ความสัมพันธ์ในสถานะนี้จะ “ไม่ปกติ”แค่ไหนก็ตาม
• กรอบสังคมคือแรงกดดัน
ถ้าสังเกตให้ดี ในซีรีส์จัดองค์ประกอบทุกอย่างโดยเฉพาะในบ้านของจองวอนให้ดูเป็นเหมือน
“ดวงตา” ทั้งลวดลายกระเป๋า นาฬิกาบนผนัง หลอดไฟ หรือแม้แต่แชนเดอเลียชิ้นใหญ่กลางบ้าน เพื่อสื่อถึงว่า แม้ความสัมพันธ์จะเป็นเรื่อง “ภายใน” ครอบครัว แต่โลกความเป็นจริง ผู้คนในสังคมต่างจับจ้อง เฝ้ามองความสัมพันธ์ในชีวิตของเราเสมอ อย่างที่เรามักจะเจอคำถามเช่น “เมื่อไหร่จะแต่งงาน” “เมื่อไหร่จะมีลูก” “ทำไมไม่มีแฟน” คำถามเหล่านี้หลายครั้งกลายเป็นความ “อึดอัด” ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่สังคมขีดไว้ จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า สิ่งที่เราจำต้องเป็นและกำลังเป็นอยู่นั้น เพียงเพราะเรา “สุขใจที่จะเป็น” หรือเป็นเพียงแค่เราไม่อยาก “ผิดแปลก” ไปจากสังคม
ซีรีส์เน้นย้ำประเด็นเหล่านี้ผ่านไดอาล็อกของซอยอนที่คอยกรอกหูจองวอนเสมอถึงภาพพจน์ ภาพลักษณ์ต่างๆ ที่คนจะพูดถึงเขา เมื่อการเป็นคนรวยถูกจัดไว้ให้เป็นชนชั้นที่น่าจะสุขที่สุด สำเร็จที่สุด ขณะที่ความจริงชีวิตของจองวอนดำมืดเกินกว่าจะพบความสุขได้ หรือแม้แต่กรอบสังคมที่วาดไว้สำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วว่าต้องเป็น “แม่ของลูก” ต้องเก่งงานบ้าน ดูแลสามีอย่างดีทุกอย่าง ซึ่งภาระเหล่านั้นกลายเป็นแรงกดดันให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกถึง “คุณค่า” ที่ลดลง รวมไปถึงการแต่งงานที่เป็นเรื่องเฉพาะ “ชายและหญิง” เท่านั้น ทั้งที่ความจริงโลกได้เปิดกว้างมากกว่านั้นมากแล้ว ทั้งหมดล้วนสื่อที่แรงกดดันมหาศาลที่ถาโถมใส่คนเรานั้นล้วนมาจาก “สังคม” ทั้งสิ้น
• การแต่งงานไม่ใช่บทสรุปของความรัก
เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ซีรีส์ใช้ชูประเด็นทางสังคมที่ตัดสินตำหนิคนจากการหย่าร้าง ผ่านคู่ของซอยอนและจองวอนกับการแต่งงานที่จากคนรักกลายเป็นคนที่ภาวนาให้อีกฝั่งตายลงไป แม้จะรู้ดีสักแค่ไหนแต่ต่างคนก็ไม่อาจเดินออกจากความสัมพันธ์ที่เลวร้ายนี้ไปได้เลย จนกระทั่งการเข้ามาของโนอินจีที่ได้แสดงการกระทำบางอย่างตามคู่มือภรรยาของบริษัท ทำให้จองวอนได้ลิ้มรสสัมผัสถึงความรู้สึกบางอย่างที่สามีภรรยาควรจะเป็น ทั้งความใส่ใจ การรับฟัง การปกป้องกัน การมีช่วงเวลาธรรดาสั้นๆ ในแต่ละวันที่เขาไม่เคยได้รับจากซอยอน ทำให้ความสัมพันธ์ปลอมๆนี้กลายเป็นความรู้สึกดีจริงๆขึ้นมา จนทำให้เขาเห็นภาพต่างที่ชัดเจนว่าการแต่งงานไม่สามารถการันตีความสุข คุณค่าหรือความรักในชีวิตอะไรได้เลย
ซีรีส์ใช้การแต่งงานปลอมสะท้อนว่า แท้จริงแล้วการแต่งงานก็แค่มายาคติของคนเราที่ไปทึกทักเอาเองว่ามันคือบทสรุปของความรัก ทั้งที่ความรัก ความรู้สึกดีที่เกิดกับใครสักคนไม่จำเป็นต้องลงเอยแต่งงานด้วยกันเสมอไป หรือไม่แม้แต่มีคำนิยามที่ชัดเจน เพียงแค่เราพบเจอใครสักคนที่เราสามารถเปิดเผยทุกเรื่องราวได้อย่างสบายใจ พร้อมจะอยู่เคียงข้างในทุกเวลาที่ดีร้าย คอยปลอบใจเป็นกำลังใจ ทะนุถนอมหัวใจกันและกัน สิ่งเรานี้หรือเปล่าที่เราควรตีค่าว่าคือ “ความรัก” มากกว่าไปสนใจคำนิยามที่จะบัญญัติไว้ในสังคมถึงสถานะต่างๆ
แม้บางครั้ง..การครอบครองหรือได้มี ได้เป็น จะทำให้เราค้นพบความสุข แต่ก็มีไม่น้อยที่การ “ทิ้ง” กลับมอบความสุขให้เราได้มากกว่า
ไม่ว่าจะการแต่งงาน สถานะ กรอบสังคม ค่านิยม หรือมายาคติที่คนใช้ตัดสินเรา ไปจนถึงกระเป๋าเดินทางใบใหญ่นั่น
เมื่อมันไม่ทำให้เรามีความสุขได้… ลองทิ้งมันไปก็ได้นะ
ชม The Trunk ทั้งหมด 8 ตอนได้ที่ทาง Netflix